วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย

ชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย
90 ม.2 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 30370
โทร.0868947505,0861362121
การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน ขาโถกเถก 
การละเล่นพื้นเมืองอีสาน



ขาโถกเถก
ปัจจุบันประเทศไทยมีการละเล่นพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกของชาติที่ประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างๆนำมาละเล่นกันในงานประเพณีต่างๆ เช่น สงกรานต์ ปีใหม่  ภาคกลาง นิยมเล่นสะบ้า  มอญซ่อนผ้า ภาคเหนือและชาวเขาเผ่าต่างๆ นิยมเล่นลูกข่าง ภาคอีสานโดยทั่วไปนิยมเล่น          ขาโถกเถกโดยเฉพาะงานประเพณีผีตาโขน ซึ่งจะนำขาโถกเถกมาขี่เพื่อเพิ่มความสูงเวลาแต่งกายเป็นภูติ  ผี  ปีศาจ  ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการละเล่นแล้วขาโถกเถกยังใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ในฤดูน้ำหลาก คนใช้ขาโถกเถกเดินข้ามน้ำข้ามโคลนได้โดยไม่เปรอะเปื้อนอีกด้วย         
                    ชมรมกีฬาขาโถกเถกแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  1 มิ.ย. 2551 โดย นายสุรศิลป์  พลธุมาร  เป็นผู้ก่อตั้ง และรวบรวมสมาชิกที่มีใจรักกีฬาขาโถกเถก และรักความเป็นไทยกว่า  100 คน และจัดการแข่งขันครั้งแรกในวันที่  13  มิถุนายน  2551   ณ ไร่ไลฟ์สไตล์ โฮมเตย  เลขที่ 90  หมู่ที่ 2  ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งชมรม และยังเป็นสถานที่ฝึกกีฬาขาโถกเถกอีกด้วย
อุปกรณ์ขาโถกเถก
ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒-๓ เมตร  จำนวน ๒ ท่อน  จากนั้นเจาะรูเพื่อทำขาสำหรับวางเท้า หรือแขนงที่ติดมากับกิ่งของไม้ไผ่ เมื่อขึ้นยืนแล้วเดินไปโดยให้มีความสูงตามต้องการที่เหมาะกับความสามารถในการทรงตัวของผู้เล่น  การเจาะรูนั้นต้องตรงกันกับไม้ทั้ง  ๒  และทำให้แข็งแรงมั่นคง
วิธีการเล่น
๑. การเริ่มต้น ผู้เล่นจะขึ้นไปยืนบนขาโถกเถก
๒. เดินแข่งกัน โดยไม่ให้ตกลงมาหรือเสียการทรงตัว
๓. การสิ้นสุดการเล่น ใครที่เดินนานมีระยะทางไกลกว่าหรือถึงเส้นชัย
     ก่อน โดยที่ไม่ตกเลยจะเป็นผู้ชนะ
๔.บางครั้งจัดแข่งยืนบนขาโถกเถกและทรงตัวเต้นประกอบเพลง ผู้ใดยืน  
    ทรงตัวได้นานที่สุดโดยที่ไม่ตกจากขาโถกเถกเป็นผู้ชนะ
โอกาสที่เล่น
นิยมเล่นในการเดินขบวนแห่ในงานประเพณี

คุณประโยชน์ของการเล่นขาโถกเถก
1. ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเสริมสร้างความสามัคคี และออกกำลัง            
    กายเพราะคนที่แข็งแรงจะเดินได้นานในระยะทางที่ไกล
2.   ผู้เล่นจะได้รับการนวดฝ่าเท้าในตัวจากการเหยียบแขนงของกิ่งไม้ไผ่
3.   ยังช่วยส่งเสริมในกิจกรรมคนไทยไร้พุงของกระทรวงสาธารณสุข